Candlestick คืออะไร แนะนำรูปแบบกราฟแท่งเทียนที่ใช้บ่อยในตลาดหุ้น
6259 views | 09/05/2022
Copy link to clipboard
Koii Nopnok
Content Creator

หนึ่งในเครื่องมือการวิเคราะห์ทางเทคนิค (Technical Analysis) ที่นักลงทุนมักนิยมใช้คือ ‘กราฟแท่งเทียน’ หรือ ‘Candlestick’ การอ่านกราฟแท่งเทียนเปรียบเสมือนการอ่านอารมณ์ของคนที่เข้ามาซื้อขายในตลาด ซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนสามารถหาคำตอบเบื้องต้นได้ว่าระหว่างฝั่งซื้อกับฝั่งขาย ฝั่งไหนมีแรงมากกว่ากัน เมื่อนักลงทุนอ่านอารมณ์ของตลาดออกก็จะสามารถตัดสินใจได้ และยังช่วยให้ได้โอกาสทำกำไรจากการเทรดมากกว่าโอกาสขาดทุนอีกด้วย บทความนี้จะพาไปทำความเข้าใจพื้นฐานว่ากราฟแท่งเทียนคืออะไร พร้อมแนะนำ 11 รูปแบบกราฟแท่งเทียนที่นิยมใช้บ่อย ๆ ในการเทรดหุ้น



ลักษณะทั่วไปของแท่งเทียนจะประกอบไปด้วย


  • ราคาเปิด (Open Price) คือ ราคาซื้อขายแรกที่เกิดขึ้นตั้งแต่เปิดตลาด
  • ราคาปิด (Close Price) คือ ราคาสุดท้ายที่เกิดขึ้นจากการซื้อขายสิ้นสุดของวัน 
  • ราคาสูงสุด (High Price) คือ การเคลื่อนไหวของราคาหุ้น ณ ระดับราคาสูงสุดในวันทำการ
  • ราคาต่ำสุด (Low Price) คือ การเคลื่อนไหวของราคาหุ้น ณ ระดับราคาต่ำสุดในวันทำการ


ระยะระหว่างราคาปิดและราคาเปิดจะเรียกว่า ตัวแท่ง (Body) ไส้เทียนด้านบนคือ Upper Shadow และไส้เทียนด่านล่างคือ Lower Shadow ปัจจุบันใช้แท่งเทียนสีเขียวแทนวันที่หุ้นขึ้น และแท่งเทียนสีแดงแทนวันที่หุ้นลง



11 รูปแบบกราฟแท่งเทียนที่เห็นบ่อยและนิยมใช้ในตลาดหุ้น


1. Hammer 

แท่งเทียนกลับตัวที่เกิดขึ้นในสภาวะตลาดขาลง คือมีแรงเทขายลงมาจำนวนมาก แต่ก็มีการซื้อกลับเข้ามาอย่างมากในระหว่างวัน ทำให้แนวโน้มมีโอกาสกลับตัวเป็นขาขึ้น หรือทำให้ราคาปิดใกล้กับจุดที่ราคาเปิดได้ ลักษณะของแท่งเทียนจะมี Body สั้น แต่จะมีไส้เทียนด้านล่าง (Lower Shadow) ยาวอย่างน้อย 2 เท่าของ Body



2. Hanging Man

 แท่งเทียนกลับตัวที่เกิดขึ้นใกล้จังหวะสิ้นสุดแนวโน้มขาขึ้น หรือหลังจากแรงซื้อดันราคาขึ้นมาหลังจากเปิดตลาด ก่อนที่ราคาจะมีการถูกเทขายลงมา ลักษณะของแท่งเทียนจะมีไส้เทียนด้านล่าง (Lower Shadow) ยาวเป็น 2 เท่าของตัวแท่ง บ่งบอกได้ว่าแรงซื้อเริ่มแผ่ว และมีโอกาสกลับตัวเป็นขาลง



3. Inverted Hammer 

แท่งเทียนกลับตัวที่เกิดขึ้นในสภาวะตลาดขาลง หรือราคาร่วงลงอย่างต่อเนื่อง และมีแรงของผู้ซื้อที่พยายามจะดันราคาให้สูงขึ้น แต่ผู้ขายก็พยายามทุบราคากลับลงมา ลักษณะของแท่งเทียนจะมี Body สั้น แต่มีไส้เทียนด้านบน (Upper Shadow) ที่ยาว บ่งบอกถึงการมีแรงซื้อกลับเข้ามา แรงขายเริ่มแผ่ว และมีโอกาสเปลี่ยนแนวโน้มจากขาลงเป็นขึ้น



4. Piercing Pattern

แท่งเทียนกลับตัวที่มักเกิดขึ้นในสภาวะตลาดขาลง ตัวแท่งเทียนจะมีลักษณะที่ค่อนข้างยาว แท่งเทียนอันแรกจะเป็นสีแดงยาวปิดต่ำ แต่มีราคาปิดที่สูงเกิน 50% ของแท่งเทียนแดงก่อนหน้า บ่งบอกได้ว่ามีแรงซื้อเข้ามามาก อาจมีโอกาสเปลี่ยนทิศทางเป็นขาขึ้นได้



5. Bullish Engulfing

แท่งเทียนกลับตัวที่เกิดขึ้นในสภาวะตลาดขาลง โดยแท่งเทียนสีเขียวจะมี Body ตัวแท่งยาวกว่าแท่งเทียนสีแดง บ่งบอกได้ว่าราคาของวันที่สองถึงแม้จะเปิดต่ำมาก แต่สามารถกลับมาปิดได้สูงในเวลาถัดมา เป็นจุดหมุนที่บ่งบอกว่าแนวโน้มอาจเปลี่ยนจากลงเป็นขึ้น



6. Bearish Engulfing

แท่งเทียนกลับตัวที่มักเกิดขึ้นในสภาวะตลาดขาขึ้น เป็นแท่งเทียนกรณีตรงข้ามกับ Bullish Engulfing แท่งเทียนสีเขียวจะมีขนาด Body เล็กกว่าแท่งเทียนสีแดง บ่งบอกถึงการเปิดราคาสูงแต่ปิดต่ำ และแรงซื้อที่ไม่มีพลัง ให้ระวังการเปลี่ยนเป็นขาลง



7. Dark Cloud Cover

แท่งเทียนกลับตัวที่มักเกินขึ้นในเทรนขาขึ้น ตัวแท่งเทียนจะมีลักษณะค่อนข้างยาว ราคาเปิดขึ้นไปสูงกว่าแท่งก่อนหน้า แต่มีราคาปิดที่ลงมาต่ำกว่า 50% ของแท่งเทียนสีเขียวก่อนหน้า บ่งบอกได้ถึงแนวโน้มและสัญญาณการกลับตัวของหุ้นมีแรงขายเข้ามาจำนวนมาก แรงซื้อถดถอยลง และอาจมีการกลับตัวเป็นขาลงได้



8. Shooting Star

แท่งเทียนกลับตัวที่เกิดระหว่างแนวโน้มขาขึ้นและกำลังจะกลายเป็นขาลง คือผู้ซื้อพยายามจะดันให้ราคาขึ้นไป แต่ไม่สามารถเอาชนะแรงขายจากฝั่งผู้ขายได้ ลักษณะของแท่งเทียนจะมี Body สั้น และมีไส้เทียนด้านบน (Upper Shadow) ยาวอย่างน้อย 2 เท่าของตัว Body ซึ่งป็นสัญญาณเตือนถึงการเปลี่ยนทิศทาง



9. Bullish Harami

แท่งเทียนกลับตัวระยะสั้นจากลงเป็นขึ้น แท่งเทียนสีแดงจะมี Body ยาวกว่าแท่งเทียนสีเขียว บ่งบอกได้ถึงแนวโน้มที่อาจเปลี่ยนเป็นขาขึ้น เนื่องจากแรงขายที่เริ่มหมดลง และมีแรงซื้อเข้ามาแทน



10. Bearish Harami

แท่งเทียนกลับตัวระยะสั้นจากขึ้นเป็นลง แท่งเทียนสีเขียวจะมี Body ยาว แท่งเทียนสีแดงจะมี Body เล็กกว่าและจะอยู่ภายใน Body ของแท่งเทียนสีเขียว บ่งบอกได้ถึงแรงซื้อที่เริ่มแผ่วลง และมีแรงขายที่พยายามต้านไม่ให้ราคาไปต่อ จึงอาจทำให้ราคาปรับตัวลงได้ในวันถัด ๆ ไป



11. Doji 

กราฟแท่งเทียนที่มีราคาเปิดและราคาปิดใกล้เคียงกัน ตัวแท่งเทียนจะมีเนื้อเทียนน้อยมาก คือเป็นเส้นบาง ๆ มีไส้เทียนที่ยาว แท่งเทียนแบบ Doji บ่งบอกถึงภาวะที่เกิดแรงดึงทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย และอาจจะเกิดภาวะการกลับตัวของราคาเกิดขึ้นได้ แท่งเทียนแบบ Doji จะแบ่งออกเป็น 4 ประเภท 


  • Dragonfly Doji คือ แท่งเทียนที่บ่งบอกว่าราคาปรับตัวลงต่ำมากจึงมีการซื้อจำนวนมาก ทำให้ราคาปิดกลับมาที่จุดเปิด


  • Gravestone Doji คือ แท่งเทียนที่บ่งบอกว่าราคาปรับตัวสูงขึ้นมากจึงมีการขายจำนวนมาก ทำให้ราคาปิดกลับมาที่จุดเปิด


  • Long-Legged Doji คือ แท่งเทียนที่บ่งบอกถึงการสู้กันระหว่างแรงซื้อกับแรงขาย แต่สุดท้ายไม่มีผู้ชนะ ทำให้ราคาปิดกลับมาที่จุดเปิด


  • 4 Price Doji คือ แท่งเทียนที่มีราคาเปิด ราคาปิด ราคาสูงสุด และราคาต่ำสุดอยู่ที่เดียวกัน มักเกิดในช่วงเวลาที่แทบจะไม่มีการซื้อขายในตลาด


การใช้กราฟแท่งเทียนในการเทรดหุ้นสามารถช่วยให้เราเข้าใจถึงอารมณ์ของคนที่เข้ามาซื้อขายในตลาด และยังช่วยให้หาจังหวะในการซื้อ-ขายหุ้นได้ไวขึ้น แต่ต้องนำไปใช้ควบคู่กับเครื่องมือวิเคราะห์ทางเทคนิคหรืออินดิเคเตอร์ตัวอื่น ๆ ด้วย เช่น แนวรับ/แนวต้าน การวิเคราะห์แนวโน้มของราคา เป็นต้น เพราะจะช่วยให้เราวิเคราะห์ทางเทคนิคได้ดีขึ้น และมีโอกาสได้กำไรมากกว่าขาดทุน


สำหรับใครที่อยากทำความเข้าใจการอ่านกราฟและการใช้ Indicator อื่น ๆ เพิ่มเติม ขอแนะนำหลักสูตรสอนลงทุนหุ้นด้วยกราฟเทคนิค ที่สอนตั้งแต่เบสิกไปจนถึงเทคนิคขั้นสูง เรียนจบแล้วจะสามารถอ่านกราฟ, ใช้ Indicator แต่ละประเภท, หาแนวรับ/แนวต้าน จุดซื้อ/จุดขาย, เข้าใจเทคนิคการเข้าซื้อหุ้นขาขึ้น และรู้วิธีบริหารความเสี่ยงด้วย Money Management

สนใจเรียนคอร์สสอนลงทุนหุ้นด้วยกราฟเทคนิคจากมือใหม่สู่มืออาชีพ คลิกที่นี่





ที่มาข้อมูล

  • https://www.investopedia.com/trading/candlestick-charting-what-is-it/
  • https://www.investopedia.com/articles/active-trading/092315/5-most-powerful-candlestick-patterns.asp
  • https://knowledge.bualuang.co.th/knowledge-base/candlesticks/
  • เม่าปีกบาง.(2555).มือใหม่เล่นหุ้นแนวเทคนิคฉบับเริ่มต้นจนเล่นจริง.กรุงเทพฯ:อินส์พัล